

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก NASA , images.gizmag.com
นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมากกว่าอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารจริง ๆ เมื่อนาซาได้ผุดโครงการส่งสมาร์ทโฟนขึ้นไปบนอวกาศ เพื่อทดลองว่า สมาร์ทโฟนจะมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่คล้ายกับดาวเทียมได้มากเพียงใด ซึ่งล่าสุด ผลการทดลองก็พบว่า เจ้าสมาร์ทโฟนเครื่องเล็ก ๆ ทำหน้าที่ได้ดีมาก ส่อเค้าลางว่าจะเป็นดาวเทียมต้นทุนต่ำ ที่อาจพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าดาวเทียมได้ในอนาคต
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซา ได้เปิดเผยภาพโลกจากโฟนแซต สมาร์ทโฟนที่ส่งขึ้นไปบนวงโคจรดาวเทียม เพื่อพัฒนาดาวเทียมสมาร์ทโฟนในอนาคต และพบว่า โฟนแซตทำหน้าที่ของมันได้ดีเลยทีเดียว

สำหรับโครงการดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา นาซาได้ส่งจรวดแอนทาเรสขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากฐานปล่อยในรัฐเวอร์จิเนีย โดยจรวดนี้ไม่ได้ขึ้นไปเพียงลำพังเท่านั้น แต่ยังพ่วงเอา PhoneSat ดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นไปพร้อม ๆ กันด้วย ถึง 3 ดวง โดยทั้ง 3 ดวงนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นดาวเทียมที่สร้างจากสมาร์ทโฟน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นดาวเทียมราคาถูกที่สุดที่เคยถูกส่งออกไปในอวกาศเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ดี แม้ดาวเทียมสมาร์ทโฟนที่ว่านี้จะไม่ใช่ดาวเทียมสมาร์ทโฟนชิ้นแรกที่ถูกส่งไปนอกโลก แต่มันก็นับว่าเป็นหนึ่งในก้าวแรกของการพัฒนาความเป็นไปได้ในการสร้างเทคโนโลยีให้มีความสามารถมากขึ้นไปอีก เพื่อประโยชน์สูงสุดของมวลมนุษยชาติ
ด้าน ไมเคิล กาซาริก ผู้บริหารด้านอวกาศและเทคโนโลยีที่กรุงวอชิงตัน ในเครือข่ายขององค์การ NASA กล่าวว่า สมาร์ทโฟนมีโอกาสที่จะถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์สร้างดาวเทียมขนาดเล็กที่ทั้งมีราคาประหยัด และมีประสิทธิภาพมากเลยทีเดียว อีกทั้งมันอาจเป็นตัวสร้างความเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์และการศึกษารูปแบบใหม่แก่คนรุ่นหลังอีกด้วย
ทั้งนี้ สำหรับดาวเทียมสมาร์ทโฟนทั้ง 3 ดวงนี้ ได้รับการตั้งชื่อว่า อเล็กซานเดอร์, เกรแฮม, และเบลล์ ตามชื่อของผู้คิดค้นโทรศัพท์เครื่องแรกของโลก โดยดาวเทียมอเล็กซานเดอร์ และเกรแฮม นั้น เป็นโฟนแซตเวอร์ชั่น 1.0 ที่ติดตั้งบนสมาร์ทโฟน Nexus One ของ Google-HTC ส่วนเบลล์ เป็นโฟนแซตเวอร์ชั่น 2.0 ที่ติดตั้งบนสมาร์ทโฟน Nexus S จาก Samsung และดาวเทียมทั้ง 3 ดวงนี้ วิศวกรนาซาได้นำมาดัดแปลงและใส่แอพพลิเคชั่นเข้าไป เพื่อทำหน้าที่ร่วมกับวิทยุสื่อสาร และถ่ายทอดสัญญาณลงมาสู่พื้นโลก