x close

Solara ดาวเทียมรุ่นใหม่ บินในชั้นบรรยากาศด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

Solara

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก titanaerospace

          ดาวเทียม ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มอบประโยชน์ให้กับโลกของเราอย่างมาก และเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมต่อข้อมูลของคนทั้งโลกให้เข้าถึงกันได้ ยิ่งในปัจจุบันถือเป็นยุคที่ข้อมูลและการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ดาวเทียมจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว

          แต่ถึงอย่างนั้น ดาวเทียมที่ส่งออกไปทำหน้าที่สำคัญนอกโลกเหล่านั้นก็มีข้อเสียไม่น้อย ทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ รวมถึงเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว ดาวเทียมหลายดวงกลายเป็นขยะลอยเคว้งในอวกาศ สร้างปัญหาต่าง ๆ เช่น โคจรไปชนกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ จนเกิดความเสียหาย และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทีมงาน ไททัน แอโรสเปซ (Titan Aerospace) จึงได้คิดประดิษฐ์ดาวเทียมรูปแบบใหม่ ที่ถึงขั้นเป็นการปฏิวัติวงการเลยทีเดียวด้วยโซลารา (Solara) ดาวเทียมที่บินด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

          โซลาราเป็นดาวเทียมก็จริงแต่ไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้บนอวกาศ แต่ถูกออกแบบให้บินสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศแทนและสามารถทำหน้าที่ได้เหมือนกับดาวเทียมที่คอยส่งสัญญาณต่าง ๆ ด้วย โดยในขณะนี้มีออกมาทั้งหมด 2 รุ่นได้แก่ โซลารา 50 มาพร้อมปีกติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ยาวกว่า 50 เมตร ตัวเครื่องยาว 15.5 เมตร มีน้ำหนัก 159 กิโลกรัม สามารถบรรทุกสิ่งของได้ 32 กิโลกรัม และในรุ่น โซลารา 60 ที่มีปีกติดตั้งแผงรับแสงยาวกว่า 60 เมตร ทำให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้นเป็น 100 กิโลกรัม โดยมีการติดตั้งมอเตอร์สำหรับการบินและอุปกรณ์อื่น ๆ ตามหน้าที่ของมัน ซึ่งโซลาราจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการบิน พร้อมทั้งยังติดตั้งแบตเตอรี่ Li-ion เป็นพลังงานสำรองสำหรับบินในยามค่ำคืนด้วย

Solara

          การทำงานของมันถือว่าน่าสนใจมากทีเดียว เริ่มต้นตั้งแต่การขึ้นสู่ท้องฟ้า โซลาราสามารถขึ้นบินจากสนามบินได้เหมือนเครื่องบินทั่วไปผ่านระบบสั่งการอัตโนมัติ โดยตัวเครื่องจะคงระดับความสูงที่ 20 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นระยะที่อยู่เหนือเมฆและไม่ได้รับผลใด ๆ จากสภาวะอากาศโลกแต่ยังไม่หลุดลอยสู่อวกาศ อีกทั้งยังมีกลางวันกลางคืนเหมือนพื้นผิวโลก หลังจากนั้นมันจะบินตามโปรแกรมที่กำหนดด้วยความเร็ว 104 กม./ชม. ซึ่งมันจะกลับลงสู่พื้นโลกด้วยตัวเองเมื่อครบ 5 ปีหรือบินเป็นระยะทาง 4.5 ล้านกิโลเมตร

          ด้วยระบบการทำงานของมันจะช่วยลดต้นทุนและการใช้พลังงานในการขนส่งดาวเทียม ลดการทิ้งขยะอวกาศ และยังนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้อีก นอกจากนี้ ตัวดาวเทียมยังมีความคล่องตัวสูง สามารถเพิ่มหรือลดความเร็วได้ รวมถึงสามารถเก็บข้อมูลทั้งสภาพอากาศ พื้นผิวของโลก และสอดส่องภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ โซลารา ยังติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญาณโทรศัพท์มือถือครอบคลุมเป็นพื้นที่กว่า 16,800 ตารางกิโลเมตร และเชื่อมต่อกับฐานส่งสัญญาณภาคพื้นดินกว่า 100 แห่งได้อีกด้วย จึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการมือถือได้เป็นอย่างดี

          ขณะนี้ทางผู้ผลิตได้เริ่มส่งเครื่องต้นแบบออกบินทดสอบแล้ว และคาดว่าจะพัฒนาโซลารา 50 และ 60 ให้ใช้งานได้จริงภายในปี 2014 ซึ่งหากสำเร็จจริงเจ้าโซลาราจะพลิกโฉมวงการสื่อสารคมนาคมได้มากทีเดียว แถมยังไม่ต้องเสียพลังงานมากมาย และสามารถหมุนเวียนทรัพยากรต่าง ๆ ได้อีกด้วย ได้ประโยชน์มากมายขนาดนี้ ก็ขอให้สำเร็จออกมาเร็ว ๆ นะครับ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Solara ดาวเทียมรุ่นใหม่ บินในชั้นบรรยากาศด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ อัปเดตล่าสุด 4 กันยายน 2556 เวลา 17:22:38
TOP