x close

มาสยบอารมณ์ร้าย ที่คอยทำลายสุขภาพกันดีกว่า

ระงับความโกรธ

มาสยบอารมณ์ร้าย ที่คอยทำลายสุขภาพกันดีกว่า (Men\'s Health)

เรื่อง : Men’s Health US แปลและเรียบเรียง: จิตติมา

          นึกออกไหมว่าครั้งสุดท้ายที่คุณไปเอกซเรย์ ทำ MRI หรือทำ CT Scan หมออธิบายผลตรวจให้คุณฟังว่าอย่างไรบ้าง แต่รับรองได้ว่าหมอไม่มีวันบอกคุณแน่ ๆ ว่า "ดูตรงที่อยู่ทางซ้ายของหลอดอาหาร ห่างออกมาประมาณ 2 นิ้ว คุณเห็นจุดสีแดง ๆ รูปร่างคล้ายกำปั้นตรงนั้นไหม นั้นแหละคืออารมณ์โกรธของคุณ ตอนนี้มันโตขึ้นมากจนน่ากลัว บอกหมอมาดีกว่าว่าวันนี้ใครทำให้คุณโมโห"

          แม้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยในปัจจุบันจะยังไม่สามารถตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้ อารมณ์ก็ยังคงมีผลต่อสุขภาพร่างกายของเราเท่า ๆ กับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เลยทีเดียว พญ. แคเรน ลอว์สัน อาจารย์สอนวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยมินนิโซตา กล่าวว่า "อารมณ์มีผลต่อการทำงานของร่างกาย แนวคิดที่ว่าร่างกายกับอารมณ์เป็นคนละส่วนที่แยกจากกันโดยเด็ดขาดเป็นแนวคิดที่ผิดมหันต์"

          ข้อมูลที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ที่ไม่ได้สอนกันในโรงเรียนแพทย์ คุณจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความโกรธกับโรคปวดหลัง ความเหงากับโรคความดันโลหิตสูง ความวิตกกังวลกับโรคสมองเสื่อม พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีดับไฟอารมณ์ร้อนแรงทั้งหลายไม่ให้มาเผาผลาญสุขภาพคุณนับแต่นี้ไป

 
ความโกรธ

          ปัญหา - ความโกรธ

          คุณ + ความขี้โมโห = ปวดหลัง เวลาโกรธจัดเราจะปวดหลังมากยิ่งขึ้น ตามข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นใหม่ในวารสาร pain ดร. สตีเฟน บรูห์ล เจ้าของงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า ความโกรธเป็นตัวกระตุ้นระบบประสาทให้ส่งต่อความเครียดในใจไปที่กล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลัง นอกจากนี้อารมณ์ฉุนเฉียวยังทำให้ร่างกายลดการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาปวด

          ทางแก้ - ดึงตัวเองออกมาก่อน

          ขั้นแรกให้พิจารณาความโกรธของตัวเอง ลองสำรวจดูว่าคุณแสดงอาการทางร่างกายออกมาบ้างหรือเปล่า คุณพ่นคำด่าหยาบคายออกมาบ้างไหม ดร.เจฟฟ์ บราวน์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่าไม่ว่าคุณจะโมโหมากขนาดไหน ให้รีบดึงตัวเองออกมาจากสถานการณ์ โดยคิดว่าคุณเป็นแค่กรรมการเท่านั้น เขาแนะนำว่า "พยายามตัดสินด้วยใจเป็นกลางโดยสังเกตดูปฏิกิริยาราวกับคุณเป็นคนนอกที่มองเข้ามา" งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโอไฮโอเสตท พบว่าการดึงตัวเองออกมาเช่นนี้ช่วยลดความโกรธและความก้าวร้าวลงได้
 
ความเหงา

          ปัญหา - ความเหงา

คุณอาจมีเพื่อนตั้ง 2,000 คนในเฟสบุ๊ก แต่ถ้าคุณไม่รู้สึกผูกพันกับใคร คุณก็ยังเหงาอยู่ดี ข้อมูลจากงานวิจัยใหม่ล่าสุดของมหาวิทยาลัยชิคาโกระบุว่า คนขี้เหงาจะมีความดันโลหิตเพิ่มขึ้นในช่วงเวลา 4 ปี สูงกว่าคนที่มีความสุขดีกับเพื่อนฝูง สิ่งที่น่ากลัวคือความดันโลหิตของคนขี้เหงาอาจเพิ่มสูงมากเสียจนเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวายได้อีกด้วย

          ทางแก้ - ทำกิจกรรมจิตอาสา

          ผู้ชายจะมีความพึงพอใจเต็มเปี่ยม เมื่อเขาสนิทสนมกลมเกลียวกับเพื่อนฝูง ดร.หลุยส์ ฮอว์กลีย์ นักประสาทวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยชิคาโก อธิบายว่านี่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตคุณลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตอนช่วงอายุ 20-29 ปี เพราะหลังจากเรียนจบ คุณก็เริ่มห่างจากกลุ่มเพื่อนมหาวิทยาลัย แต่ใจคุณยังโหยหาสังคมแบบเดิมอยู่ ดร.ฮอว์กลีย์ แนะนำให้ลองไปเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะเมื่อได้ร่วมงานกับคนที่มีความคิดคล้าย ๆ กัน มิตรภาพจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ซึมเศร้า

           ปัญหา - ซึมเศร้า

          ความเศร้าหมองอาจเป็นต้นเหตุของมะเร็ง งานวิจัยของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ระบุว่า คนที่เคยซึมเศร้ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งสูงกว่าคนที่ร่าเริงถึง 69 เปอร์เซ็นต์ ดร.อัลเดน กรอสส์ เจ้าของงานวิจัยชิ้นดังกล่าวอธิบายว่า เมื่อเราตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าสักระยะหนึ่ง ร่างกายจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนกระตุ้นและควบคุมกระบวนการเจริญเติมโตของเซลล์ให้เป็นปกติ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง

          ทางแก้ - มองโลกตามความเป็นจริง

          งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเปิดเผยว่า คนที่มั่นใจในตัวเองแบบเกินร้อยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากว่า เหตุผลก็คือ เมื่อเราเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปเรามักจะผิดหวังและมองไม่ออกว่าตัวเองมีอะไรบ้างที่ควรปรับปรุง หัดยอมรับให้ได้ว่าคุณเองก็มีสิทธิ์ล้มเหลวเหมือนคนอื่น แต่คุณอาจจะพยายามลดความเสียหายให้น้อยลงได้ นักวิจัยในอังกฤษบอกว่าพอรู้จุดอ่อนของตัวเอง เราก็มีโอกาสปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้

มองโลกในแง่ร้าย

           ปัญหา - มองโลกในแง่ร้าย

          การคาดการณ์ไปในทางร้ายที่สุด อาจเป็นภัยต่อสมอง งานวิจัยของฟินแลนด์พบว่าคนที่มองโลกในแง่ร้ายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนที่มองโลกในแง่ดี ดร.เฮอร์แมนน์ นาบี เจ้าของงานวิจัยอธิบายว่า การคิดในด้านลบเป็นประจำมีผลเสียต่อหลอดเลือด และรบกวนการทำงานของระบบประสาทส่วนที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

          ทางแก้ - หมั่นคิดบวก

          คุณอาจจะไม่ได้เป็นคนที่มองโลกในแง่บวกเสมอ แต่ก็คงไม่ได้มองโลกในแง่ลบมาตั้งแต่เกิดหรอก เพียงแต่คุณต้องฝึกคิดบวกบ่อย ๆ ต่างหาก ทุกอาทิตย์ให้คุณเลือกด้านใดด้านหนึ่งของชีวิต อาจเป็นหน้าที่การงานหรือความรัก แล้วลองนึกภาพดูว่าถ้าทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี สิบปีข้างหน้าคุณจะเป็นอย่างไร นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียริเวอร์ไซด์บอกว่า การใช้จินตนาการแบบนี้ ช่วยให้คุณมองเห็นอนาคตชัดเจนขึ้น

วิตกกังวล

           ปัญหา - วิตกกังวล

          ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมมาก ๆ ความวิตกกังวลจะเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของเรา คนที่กังวลอยู่เสมอมีสิทธิ์เลอะเลือนได้ ข้อมูลจากงานวิจัยของอังกฤษระบุว่าความกังวลเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าความตึงเครียดซึ่งเป็นผลจากความกังวลจะกระตุ้นให้ร่างกายหลังฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยต์ออกมา ซึ่งถ้าในร่างกายมีฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินไป เซลล์สมองจะถูกทำลายจนหมดเกลี้ยง และสมองส่วนที่ควบคุมความทรงจำก็จะเสื่อมสภาพ

          ทางแก้ - ออกกำลังกายสมอง

          เพิ่มโปรแกรมต่อไปนี้เข้าไปในตารางออกกำลังกายของคุณ โดยให้ออกกำลังกล้ามเนื้อหัวใจแบบไม่หนักเกินไปเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงอย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเซาเธิร์นเมโธดิสต์ระบุว่า การออกกำลังกายแบบนี้ช่วยลดอาการวิตกกังวลได้เหมือน ๆ กับการกินยาลดอาการวิตกกังวลเลยทีเดียว นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยเพิ่มออกซิเจนให้สมองเพื่อนำไปใช้ในการรวบรวมและสร้างหน่วยความจำ

เหนื่อยล้า

           ปัญหา - เหนื่อยล้า

          การทำงานอาทิตย์ละ 60 ชั่วโมงอาจจะไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสเกินไปในความคิดของคุณ แต่ก็ต้องคอยเช็กระดับน้ำตาลในเลือดด้วย งานวิจัยจากเซอร์เบียระบุว่า คนที่เครียดเพราะทำงานมีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่ทำงานแบบชิล ๆ ถึง 21 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้งานวิจัยจากอิสราเอลยังพบว่าการตั้งหน้าตั้งตาเคลียร์งานท่วมหัวในออฟฟิศ มีผลทำให้นอนไม่หลับและเกิดการอักเสบภายในร่างกายซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน

          ทางแก้ - ยิ้มสู้เข้าไว้

          ปัญหานี้แก้ได้ชัวร์ถ้าคุณลาออกจากงานแล้วย้ายไปมีชีวิตลั้นลาอยู่ที่เกาะฟิจิ หากคุณยังไม่พร้อมที่จะตัดสินใจแบบนี้ก็ไม่เป็นไร ลองทำตัวสบาย ๆ ราวกับไปเที่ยวเกาะเวลาทำงานก็ได้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคนซัสพบว่า เพียงแค่ยิ้มออกมา ขณะที่รู้สึกเครียดก็ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลงได้ ไม่ต้องถึงกับยิ้มตลอดเวลาเหมือนติงต๊องหรอก ดร.บราวน์แนะนำว่าแค่อมยิ้มน้อย ๆ ก็คลายเครียดได้แล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับ มีนาคม 2556







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาสยบอารมณ์ร้าย ที่คอยทำลายสุขภาพกันดีกว่า อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2556 เวลา 11:45:31 1,892 อ่าน
TOP