x close

ปราบดา หยุ่นในยุคของ E-BOOK

ปราบดา หยุ่น

ปราบดา หยุ่น IN THE AGE OF E-BOOK (GM)
เรื่อง : ณัฐมันท์ เฉลิมพนัส ถอดความ : วัชรา พิพัฒนาไพบูรณ์ ภาพ : อนุวัตน์ เดชธำรุงวัฒน์

          E-book กำลังปรากฏกายขึ้นอย่างอึกทึก !

          ในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ E-book เริ่มเผยร่างให้เห็นเป็นจริง หลังจากหลายคนคาดหมายมานานแล้วว่ายุคแห่ง E-book จะต้องมาถึงเราแน่

          แม้จะช้ากว่าที่คาด แต่ในที่สุดทุกคนก็เริ่มตื่นตัวกับ E-book โดยเฉพาะเมื่อนักเขียนดังหลายคนเริ่มตบเท้าเข้าหาวิธีกระจายงานแบบใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านของ MEB, SE-ED, นายอินทร์ หรืออื่น ๆ แต่ที่เป็นที่กล่าวขานที่สุด เห็นจะเป็นร้านหนังสือ E-book ที่มีชื่อว่า Bookmoby เพราะพูดได้ว่าร้านแห่งนี้มีนักเขียนดังหลายคนนำหนังสือเข้ามารวมตัวกันอยู่

          และหนึ่งในนั้น-คือนักเขียนที่มีนามว่า ปราบดา หยุ่น

          GM ชวนปราบดามาสนทนาเรื่อง E-book เพื่อถามถึงความคิดเห็นของเขาต่อปรากฏการณ์ใหม่นี้ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบระหว่าง E-book กับหนังสือเล่ม รวมถึงอนาคตของวงการหนังสือเล่ม ในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนคนแรก ๆ ที่มีผลงานในรูปแบบ E-book และยังเป็น "เจ้าสำนัก" หนังสือไต้ฝุ่น ซึ่งยังคงผลิตหนังสือเล่มออกมาอย่างสม่ำเสมอ

          ไม่ควรพลาด, ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจหนังสือและอนาคตของการอ่าน !

1. ทำไมคุณถึงเลือกขายหนังสือในรูปแบบ E-book กับ Bookmoby ที่นี่มีข้อดีอย่างไร

          สองสามปีที่ผ่านมามีการพูดถึง E-book เยอะ ผมเริ่มสนใจมาสักพักหนึ่งแล้ว ผมรู้สึกว่าทุกวันนี้โลกออนไลน์มีคนใช้เยอะมาก แต่ยังไม่มีพื้นที่ที่ใช้เอื้อให้กับสังคม นักอ่าน นักเขียน สำนักพิมพ์ หรือผู้ที่มีความสนใจในวรรณกรรมอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่จะอยู่บนเฟซบุ๊ก ไม่ก็บล็อก แต่บล็อกก็ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ขณะที่เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์จะเอาไว้พบปะสังสรรค์ พูดคุยอะไรเบา ๆ ไม่ใช่ที่ที่ใครจะมาจริงจังมากกับการอ่านหรือการเขียน ซึ่งผมคิดว่า สองอย่างนี้ควรจะมีอะไรสักอย่างร่วมกันได้ นั่นคือการสร้าง E-book กับการสร้างชุมชนที่เกี่ยวข้องกับนักอ่านนักเขียนโดยเฉพาะ พอมีพื้นที่ของ Bookmoby เปิดขึ้นมา ก็รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้น่าสนใจ และน่าจะมีพื้นที่แบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

          อีกเรื่องที่ผมชอบก็คือ การที่ Bookmoby ไม่ทำให้หนังสือดูเป็นสินค้ามากเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมากของวงการ E-book เมื่อหนังสือถูกทำให้เป็นสินค้าอย่างเดียว จะกลายเป็นว่าสิ่งที่ขายได้หรือสิ่งที่คนสนใจจะมีแต่หนังสือขายดี หรือหนังสือที่เป็นกระแสอยู่แล้ว ส่วนวรรณกรรม เรื่องสั้น หรือประวัติศาสตร์จะอยู่ในหลืบ คล้าย ๆ กับว่าคนต้องสนใจจริง ๆ ถึงจะค้นเจอว่าหนังสือนี้มีอยู่ใน E-book เพราะว่ามันไม่มีชุมชน ไม่มีคนพูดถึงให้รับรู้ว่าหนังสือเล่มนี้มีแล้ว

2. พื้นที่ของ E-book จะช่วยให้คนควานหาเข้าไปถึงหนังสือในซอกหลืบได้ง่ายขึ้นหรือ

          อย่างน้อยจะทำให้เกิดกระแสของการพูดถึง มีการประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมสำหรับคนที่สนใจในหนังสือ หนังสือเป็นสินค้าก็จริง แต่คนที่ทำธุรกิจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าลูกค้าที่ชอบหนังสือหรือเขียนหนังสือมีธรรมชาติแบบไหน หนังสือเป็นสินค้าที่แปลก เพราะเราไม่สามารถจัดการมันแบบสินค้าทั่ว ๆ ไปได้ พูดง่าย ๆ ว่า หนังสือกับมือถือหรือเสื้อผ้าไม่เหมือนกัน การขายเสื้อผ้าทางอินเทอร์เน็ตมันง่ายกว่า เป็นไปได้มากกว่า เพราะคนเข้ามาเพื่อช็อปปิ้ง เขาตั้งใจมาดูอยู่แล้ว แต่หนังสือเกิดจากการบอกต่อ เกิดจากการเรียกร้องความสนใจในเชิงปัญญา จุดเด่น จุดพิเศษในงานเขียนของนักเขียนบางคนที่ต้องถูกดึงออกมาให้สาธารณะเห็นก่อนว่ามีอะไรบ้าง เหมือนกับเวลาเราเดินผ่านร้านหนังสือ เราจะเห็นดิสเพลย์ที่กระจกก่อนว่ามีหนังสืออะไรออกใหม่หรือหนังสือขายดี ผมจึงคิดว่า สำหรับ E-book ที่จะเป็นกระแสขึ้นมาได้หรือคนให้ความสนใจ ต้องมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับการประชาสัมพันธ์ในโลกของความเป็นจริง เหมือนเป็นหน้าร้านที่ให้ความสำคัญกับความเป็นหนังสือจริง ๆ ให้ความสำคัญกับนักเขียน และสำนักพิมพ์ทุกประเภทเท่าเทียมกัน

3. บางคนมอง E-book ว่าเป็นปีศาจที่มาทำลายวงการหนังสือเล่ม คุณคิดอย่างไร

          ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนอ่านมากกว่า ผมไม่ค่อยกลัวเรื่องการตายลงของหนังสือเล่มที่เขากลัวกัน เพราะว่าผมก็ยังอ่านหนังสือเล่มอยู่เหมือนเดิม และมีความรู้สึกว่า สองอย่างนี้มันมารองรับพฤติกรรมวิถีชีวิตที่ต่างกันของคน เช่น คนที่เขาใช้ E-reader ส่วนใหญ่เขาจะเป็นคนที่ต้องเดินทาง หรือว่าต้องใช้ชีวิตนอกบ้านเยอะ ๆ แล้วมีความรู้สึกว่าการที่ต้องแบกหนังสือไปเยอะ ๆ มันไม่ค่อยสะดวก มีหนังสืออยู่ใน E-reader ได้ 30 เล่ม ถือแค่ E-reader อันเดียวเบา ๆ แต่ขณะเดียวกันคนที่ชอบเข้าร้านหนังสือชอบอ่านหนังสือเล่มก็ยังมีอยู่ หรืออาจจะมีทั้งคนที่อ่านทั้งหนังสือเล่มและ E-book ด้วย ควบคู่กันไปด้วยเหตุผลหลายอย่าง การมี E-book ทำให้ง่ายต่อการหาหนังสือที่หาไม่ได้ในประเทศไทย บางเล่มซื้อทาง E-reader ถูกกว่าที่จะซื้อร้านหนังสือ แต่ถ้าเล่มเดียวกันหาเป็นเล่มได้ แถมยังถูกกว่าก็จะซื้อเป็นเล่ม

4. คุณคิดว่าสุดท้ายแล้วหนังสือเล่มจะตายจริง ๆ ไหม

          ผมไม่ค่อยกลัวเรื่องที่มันจะทำร้ายหรือทำลายหนังสือเล่มนะครับ ผมคิดว่ามันเป็นสื่อที่ต่างกัน แม้จะเป็นเนื้อหาเดียวกันก็ตาม แต่มันแค่มารองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในยุคนี้มากกว่า หนังสือจะตายก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีมันทำได้เทียบเท่าในระดับที่ใกล้เคียงกับความสะดวกของหนังสือเล่ม จนไม่จำเป็นที่จะต้องมีหนังสือเล่มแล้ว แต่ในความรู้สึกของผมเองคิดว่าน่าจะยากมาก เพราะหนังสือเล่มมีข้อดีหลายอย่างที่ตัวแท็บเล็ตไม่สามารถทำได้เลย เช่น หนังสือเล่มจะไม่หายไปเพราะว่าไฟดับหรือไม่ถูกลบทิ้งไปได้ง่าย ๆ และเป็นการสืบสานความรู้ข้อมูลที่ง่ายมาก หมายถึงว่าในหนังสือเล่มหนึ่ง มีความเป็นไปได้ที่เราจะไปค้นพบข้อมูลของหนังสือเล่มนี้ได้ง่ายกว่าการที่เราต้องไปดาวน์โหลด E-book ลงไปในคอมพิวเตอร์ เช่น คุณอาจไปเจอหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญถูกวางทิ้งอยู่ก็ได้ แล้วเราก็เปิดอ่านหรือหยิบมาเลย หรือไปเจอในกระบะในหนังสือมือสองที่ราคาถูกมากก็ได้ หรือจะมีคนให้เราก็ได้ มันเป็นการส่งต่อที่ง่ายและสะดวกกว่าเยอะ ไม่นับการแชร์ ดาวน์โหลดหรือการแฮ็ก ที่มันต้องตั้งใจทำจริง ๆ แต่ในชีวิตประจำวันเราจะพบว่าหนังสือเล่มมันอยู่ทั่ว ๆ ไป เข้าร้านตัดผมก็มีคนวางหนังสือทิ้งไว้ มันยังเป็นการกระจายความรู้ที่สะดวกกว่า และถ้าจะพูดถึงในแง่ราคา มันยังมีโอกาสที่เราจะได้มันมาโดยที่ไม่ต้องเสียอะไรมาก

5. ปัจจุบันมีการใช้เว็บทอร์เรนต์ต่าง ๆ เพื่อดาวน์โหลดหนังสือ เมื่อพบเล่มที่น่าสนใจก็โหลดเก็บเอาไว้ แบบนี้คล้ายกับการบังเอิญไปเจอหนังสือในกระบะอย่างที่คุณบอกหรือเปล่า

          มันก็อาจจะคล้ายกันในแง่ที่ว่าเราสะสมข้อมูลตรงนี้เอาไว้ แต่ว่ามันจะไม่คล้ายกันในแง่ของการใช้งาน เหมือนกับเราดาวน์โหลด MP3 ความรู้สึกตอนที่เราดาวน์โหลดเราจะรู้สึกว่า เฮ้ย! เจ๋งว่ะ เราสามารถดาวน์โหลดเพลง 500 เพลงได้โดยที่ไม่ต้องซื้อเลย แต่เราฟังมันมากแค่ไหน เราแทบจะไม่เคยฟังเพลงพวกนั้นเลย แล้วก็ฟังแต่เพลงซ้ำๆ ที่เราชอบ จากที่เราดาวน์โหลดมา 500 เพลง เราฟังอยู่แค่ 15 เพลง ก็เหมือนกัน ผมคิดว่าคนที่เขาอยากจะอ่านหนังสือหรือชอบหนังสือ ต่อให้เขามีหรือต่อให้เขาดาวน์โหลดมาแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องเหนื่อยที่เราจะต้องไปเปิดเล่มนี้มาดู เปิดเล่มนั้นมาดู มาเปรียบเทียบกันว่าเล่มไหนน่าอ่าน มันยากที่จะดูเป็นไฟล์ ในขณะที่หนังสือเล่ม เราหยิบมาดู ไม่ชอบเราก็วางมันง่ายกว่า แล้วอีกอันหนึ่งที่ผมสังเกตได้จากการที่ต้องทำอยู่บ่อย ๆ คือการอ่านหนังสือเพื่อหาข้อมูล ถ้าเราต้องใช้ข้อมูลอ้างอิงเยอะ ๆ สิ่งที่เราทำ คือเราต้องเอาหนังสือเล่มต่าง ๆ มากางไว้พร้อม ๆ กันหมด 20 เล่ม แต่ถ้าเป็นในรูป iPad คุณก็ต้องซื้อ iPad 20 เครื่อง เพื่อมาเปิดพร้อม ๆ กัน หรือถ้าเป็นโปรแกรมการเปิดหน้าจอพร้อม ๆ กัน มันก็ยังสับสนมาก แล้วบางทีเรารู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เพราะเรารู้ว่าหน้านั้นมันงอ เราก็ไปหยิบมันมาเปิด แต่ในขณะที่การหาไฟล์ อยากจะกระโดดไปหน้า 500 ก็ทำง่าย แต่คุณจะรู้ได้ไงว่า หน้า 500 คือหน้าที่คุณต้องการในตอนนั้น

6. การดาวน์โหลดจากทอร์เรนต์ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคตอาจจะมีแผ่นซีดีวางขาย แต่ไม่ใช่เพลงหรือหนัง เป็นการรวมหนังสือของนักเขียนไว้ในแผ่นเดียวกัน

          ถ้ามันเกิดขึ้นผมก็จะค่อนข้างรู้สึกดีด้วยซ้ำนะครับ (หัวเราะ) มันสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศนี้มีการดาวน์โหลดหนังสือเถื่อนกันเยอะขนาดนี้ถึงได้เจริญขนาดนี้ คือเพลงกับหนังสือมันต่างกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ในเรื่องธุรกิจก็ต่างกัน หนังสือมันเป็นสินค้าที่เขาเรียกว่า Long Tail เป็นระยะยาว หนังสือที่ได้รับความสนใจจริง ๆ และเป็นสากล เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพูดถึงมันอยู่เรื่อย ๆ มันไม่ใช่สินค้าที่บูมขึ้นมาแล้วทำเงินมหาศาลให้กับใครภายในเวลาอันน้อยนิด แต่มันจะอยู่ไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น คนทำสำนักพิมพ์หรือคนเขียนหนังสือจะรู้ดีว่า หนังสือที่จะเลี้ยงชีพเขาได้จริง ๆ มันไม่ใช่พวกเบสต์เซลเลอร์หรือว่าหนังสือในกระแส เพราะว่าเหล่านั้น มันมาแค่เดือนสองเดือน เสร็จแล้วผ่านไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีจริง ๆ สำหรับสำนักพิมพ์หรือนักเขียน คือ หนังสือที่ขายได้เรื่อย ๆ แต่ขายได้ไม่ต้องเยอะ สมมุติเราไปงานหนังสือเราจะรู้ว่ามีบางเล่มที่จะมีคนมาซื้อทุกที แม้จะออกมาเป็นสิบปีแล้วก็ตาม หนังสือที่ขายได้เรื่อย ๆ ในขณะที่เบสต์เซลเลอร์ในหนังสืออาจจะขายได้พันเล่ม ส่วนพวกที่ขายน้อย แต่ขายได้เรื่อย ๆ ในระยะเวลา 20-30 ปี มันก็เป็นคล้าย ๆ กับทรัพย์สินทางปัญญาที่ช่วยเลี้ยงสำนักพิมพ์หรือนักเขียนได้ดีกว่า

7. โดยส่วนตัวของคุณ เมื่อได้อ่าน E-book มาก ๆ ส่งผลให้ได้อ่านหนังสือที่เป็นเล่มจริง ๆ น้อยลงด้วยไหม

          ไม่เลยครับ ยังอ่านหนังสือเล่มอยู่เหมือนเดิม ผมเป็นคนอ่าน E-book น้อยมาก เพราะไม่ได้ติดวิถีชีวิตแบบนั้น สำหรับผมแล้ว การอ่าน E-book เป็นเรื่องของความสะดวกอย่างเดียว อย่างเช่น เวลาเดินทาง เมื่อก่อนก็แบกหนังสือเยอะเหมือนคนบ้า อยู่บ้านก็ไม่ได้อ่านแล้วเราก็จะมีจินตนาการผิด ๆ ว่า เวลาไปเที่ยว เราจะมีเวลาเยอะ แบบว่านั่งริมทะเล อ่านหนังสือ เสร็จแล้วก็ไม่เห็นจะได้อ่าน หรืออ่าน 2 หน้า เหมือนเดิม แต่ว่าแบกไปปวดหลัง การที่มันมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้เรามีหนังสือเยอะ ๆ อยู่ในอันเดียวโดยที่ไม่ต้องแบกก็เป็นเรื่องดี และการใช้ E-reader มีข้อดีในการดาวน์โหลดหนังสือที่เราหาซื้อที่นี่ไม่ได้ แต่ในแง่องค์ความรู้ อรรถรสของเนื้อหาก็ยังเหมือนกัน เพราะเวลาเราเริ่มอ่านอะไรสักอย่าง ถ้าเราสนใจมันจริง ๆ เราจะไม่สนใจที่ตัวอุปกรณ์

8. ในปัจจุบัน สิ่งที่ดาวน์โหลดได้จากอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ คือของฟรี คุณคิดว่า E-book ที่ต้องเสียเงินซื้อ จะมีคนให้ความสนใจจริง ๆ มากน้อยแค่ไหน

          ผมคิดว่าสิ่งที่จะดำเนินไปได้ในแง่ธุรกิจต้องมีพื้นที่ก่อน ที่เห็นตอนนี้ยังไม่มี เพราะฉะนั้น ทุกคนจะชินกับการไม่มี เหมือนกับการที่คนยังไม่ชินกับการซื้อ ทำไมเขาถึงต้องมายอมซื้อ นั่นเพราะว่ามันยังไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ มันมีแต่ความรู้สึกว่า อ่านบล็อกก็ฟรี เฟซบุ๊กก็ฟรี จะมีแต่คนยอมจ่ายก็พวกที่เขาช็อปปิ้งเล่นเกม แต่กับเรื่องที่คิดว่าไม่คุ้มก็ยังไม่เกิดความรู้สึกว่าต้องซื้อ แต่ผมคิดว่าถ้าเรามีพื้นที่ เหมือนกับเรามีร้านหนังสือ เรามีวัฒนธรรมของการพูดถึงหนังสือ มีคนเข้ามาวิจารณ์หนังสือ พูดถึงนักเขียน หรือคนที่เขียนบล็อกแล้วกลายเป็นนักเขียนขึ้นมา มีคนติดตามอ่านเยอะ ๆ ก็จะเกิดความรู้สึกว่า เราจะต้องรักษาพื้นที่เอาไว้ และการรักษาพื้นที่นี้เอาไว้ มันต้องช่วยกันสนับสนุน ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ แต่ก็ไม่ค่อยกังวล เพราะผมเชื่อว่า ตราบใดที่มันยังไม่มี เราคาดเดาไม่ได้เลย

9. เท่ากับคุณมองว่าพื้นที่ของ Bookmoby คือการช่วยส่งเสริมให้คนซื้อหนังสือเล่มมากกว่ามาทำลายให้หายไป

          อันนี้เป็นความหวัง เป็นสิ่งที่ผมคิด อาจจะมีส่วนคนที่กลัวว่ามันจะมาส่งผลกระทบในด้านลบกับสื่อหนังสือเล่ม แต่ผมกลับเชื่อว่ามันน่าจะบวกมากกว่า เพราะว่าพฤติกรรมมันต่างกัน แต่สิ่งที่ยังรู้สึก คือ โลกออนไลน์ในตอนนี้ยังไม่ค่อยช่วยโลกหนังสือมากนัก เพราะว่าไม่มีการคุยกัน ไม่มีการเชื่อมโยงกันที่จริงจัง แต่การมีเฟซบุ๊กช่วยธุรกิจของหลายคนมาก เพราะการที่เขาได้เห็น ได้มาคุย หรือมีการอัพเดทบ่อย ๆ มันสร้างความรู้สึกใกล้ชิดมากกว่า แล้วทำให้คนได้เห็นความเคลื่อนไหวสะดวกกว่า เขาไม่ต้องเดินทางไปอ่านไหน ๆ เพื่อเห็นการอัพเดท เขาสามารถเห็นได้ในเฟซบุ๊ก อย่างสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่นของผมเองตอนนี้ก็อยู่ได้เพราะเฟซบุ๊กเหมือนกัน ก็ต้องขอบคุณเขา เพราะเวลาที่มีหนังสือใหม่ออก หรือถ่ายรูปหนังสือเก่าเอาไปแชร์ สักพักหนึ่งก็จะมีคนโทรฯ มาสั่ง คนเราในยุคนี้อยู่กับหน้าจอเยอะ แล้วก็มีเวลาน้อยลงที่จะใช้เวลาเตร็ดเตร่หาโน่นหานี่ดู พอเขาเห็นได้สะดวก ๆ มันก็ช่วยเยอะ

10. คุณเคยเขียนถึงโฮมแบนด์ ซึ่งเป็นนาฬิกาอัจฉริยะในเรื่อง Shit แตก ! ที่คล้าย ๆ กับ Siri ใน iPhone ตอนนี้ ถ้ามี "Shit แตก !" ภาค 2 คิดว่าต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นมาอีกบ้างไหม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการอ่าน

          จริง ๆ "Shit แตก !" มันเชยด้วยซ้ำ เพราะที่ผมกำหนดว่าต้องเกิดขึ้นยังอีกไกลมากเลย อีกตั้งร้อยกว่าปี แต่ถ้าระยะการพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นอย่างทุกวันนี้จริง ๆ ยุค Shit แตก ! ที่มีโฮมแบนด์นี่โคตรเชยเลยนะ (หัวเราะ) แต่ถ้าจะให้คิดถึงภาค 2 โดยเฉพาะในเรื่องของการอ่าน ถ้าให้สะดวกจริง ๆ มันน่าจะเป็นคล้าย ๆ กระดาษสังเคราะห์ เป็นกระดาษเทียมที่มีแผ่นเดียว สมมุติเราซื้อหนังสือมาเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่เราสามารถป้อนข้อมูลใหม่ ๆ เข้าไปได้เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ซื้อมาเล่มเดียวก็เหมือนมีพันเล่ม แต่มันจะต้องเป็นรูปเล่มแบบกระดาษ ได้ความรู้สึกเหมือนการอ่านจากหนังสือเล่มทุกอย่าง ถ้ามันทำได้แบบนี้เมื่อไหร่ คิดว่าตอนนั้นแหละที่หนังสือเล่มน่าจะถึงกาลอวสานจริง ๆ

          Work

          หนังสือล่าสุดของปราบดา คือ "เมืองมุมฉาก" (อย่าประหลาดใจ-เพราะนี่คือ "ฉบับเปลือย" ที่ถอดเอากราฟฟิกวัยหนุ่มออก) กับ "ความน่าจะเป็น" (อย่าประหลาดใจอีกเช่นกัน-เพราะนี่คือครั้งแรกที่เป็นฉบับปกแข็ง) สองเล่มนี้คุณพบได้ใน App Bookmoby พร้อมกับ "ดาวดึกดำบรรพ์" และ "ส่วนที่เคลื่อนไหว"



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

Vol.27 พฤษภาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปราบดา หยุ่นในยุคของ E-BOOK อัปเดตล่าสุด 29 มิถุนายน 2555 เวลา 15:31:48 1,354 อ่าน
TOP