x close

ผู้ชายหยุดสูงตอนอายุเท่าไหร่ เพิ่มความสูงทันไหม อะไรเป็นปัจจัยให้หยุดสูง

          ผู้ชายหยุดสูงตอนอายุเท่าไหร่ ไขข้อข้องใจว่าผู้ชายหยุดสูงตอนไหน มีอะไรเป็นปัจจัยเรื่องความสูงบ้าง แล้วจะเพิ่มส่วนสูงทันไหม มาดูกัน

ผู้ชาย

          เชื่อว่าหนุ่ม ๆ หลายคนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความสูงของตัวเอง ว่าจะเตี้ยเกินไปหรือไม่ ยังมีโอกาสสูงขึ้นได้อีกไหม แต่ก็ไม่รู้ว่าร่างกายจะหยุดสูงขึ้นเมื่อมีอายุกี่ปี เพราะเรื่องส่วนสูงนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมบุคลิกและความมั่นใจให้กับผู้ชายได้ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงจะมาไขข้อสงสัยกันว่า ผู้ชายหยุดสูงตอนอายุเท่าไหร่ แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้หยุดสูงบ้าง

เด็กผู้ชายเริ่มสูงตอนไหน


          เรื่องส่วนสูงของเด็กผู้ชายแต่ละคนขึ้นอยู่กับช่วงวัยรุ่นของเขาว่ามาเร็วแค่ไหน โดยจะแบ่งประเภทเป็น เด็กโตเร็ว กับ เด็กโตช้า สำหรับเด็กที่โตเร็วอาจเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในร่างกายได้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ในขณะที่คนโตช้าอาจเริ่มที่อายุ 14 ปี โดยเด็กผู้ชายที่เข้าสู่วัยแรกรุ่นเมื่ออายุ 9-12 ปี จะสามารถคาดหวังกับการเติบโตสูงสุดได้ระหว่างช่วงอายุ 13-15 ปี แต่สำหรับคนที่โตช้า ความสูงอาจจะเพิ่มขึ้นได้จนถึงอายุ 18 ปีเลยทีเดียว โดยเรื่องพันธุกรรมจะมีผลเมื่อเด็ก ๆ โตเต็มที่แล้ว ดังนั้นช่วงก่อนที่ร่างกายจะเจริญเติบโตเต็มที่ เราก็สามารถเพิ่มความสูงได้เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะจากสารอาหาร การออกกำลังกาย หรือการพักผ่อน

ผู้ชายหยุดสูงตอนอายุเท่าไหร่


         ตามค่าเฉลี่ยแล้ว ผู้ชายมักจะหยุดสูงเมื่ออายุ 17-18 ปี แต่หลังจากนั้นจะสูงขึ้นได้อีกไหม ? ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อผู้ชายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เต็มที่ ส่วนหนึ่งในร่างกายที่เรียกว่า “Growth Plates” จะเชื่อมต่อกัน ซึ่งส่วนนี้ทำความเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ชั้นของกระดูกอ่อนที่พบที่ปลายด้านใดด้านหนึ่งของกระดูกที่ยาวที่สุดในร่างกาย เมื่อชั้นกระดูกเหล่านี้เชื่อมกันก็จะทำให้หยุดสูง เพราะไม่มีพื้นที่ให้กระดูกขยายแล้วนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม หากหนุ่ม ๆ เข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ช้ากว่ามาตรฐานก็อาจยังสูงขึ้นได้อีกจนถึงอายุ 20-21 ปี

ผู้ชาย

วิธีเพิ่มส่วนสูงก่อนอายุ 21 ปี


          สำหรับหนุ่ม ๆ ที่ยังสามารถสูงได้อีก ลองทำตามวิธีเหล่านี้ดู อาจจะสามารถช่วยเพิ่มความสูงก่อนที่ร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโตได้

          1. เลือกโภชนาการที่ดี - โดยกินอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีนจากไข่ ถั่วเหลือง เนื้อไม่ติดมัน และผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งสามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้อย่างมาก ทั้งนี้ แนะนำให้รวมผักและผลไม้เอาไว้ในมื้ออาหารด้วย เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร

          2. นอนหลับให้เพียงพอ -
โดยปกติฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตและไทรอยด์จะถูกปล่อยออกมาในระหว่างการนอนหลับ ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาของกระดูกอย่างเหมาะสม การอดนอนจะไปกดฮอร์โมนเหล่านี้ จึงส่งผลต่อการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงควรนอนหลับให้เหมาะสมกับช่วงอายุ นั่นคือ อายุ 6 ขวบ - 12 ปี ควรนอนวันละ 9-12 ชั่วโมง และอายุ 13-18 ปี ควรนอนวันละ 8-10 ชั่วโมง

          3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ -
การออกกำลังกายในระดับปานกลางสามารถส่งผลดีต่อการเจริญเติบโต แต่ถ้าออกกำลังกายหนักเกินไปอาจทำลายมวลกระดูกได้ ควรเน้นการออกกำลังกายที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลาง เช่น ท่าแพลงก์ ท่า Abdominal Crunch หรือการทำสะพานโค้ง เป็นต้น

          จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เพียงเรื่องพันธุกรรมเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดเรื่องความสูง แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนั้นถ้าบำรุงร่างกายให้แข็งแรงก่อนถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์ก็จะทำให้หนุ่ม ๆ สูงขึ้นได้ครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : momjunction.com, medicinenet.com, peanut-app.io

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้ชายหยุดสูงตอนอายุเท่าไหร่ เพิ่มความสูงทันไหม อะไรเป็นปัจจัยให้หยุดสูง อัปเดตล่าสุด 3 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13:21:59 64,164 อ่าน
TOP