x close

ตัวย่อบนเลนส์กล้อง Canon กับ Nikon มีความหมายอย่างไร ?

ตัวย่อบนเลนส์กล้อง

          ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับตัวย่อบนเลนส์กล้องจาก Canon และ Nikon ว่าหมายความว่าอย่างไร เรื่องน่ารู้ที่ช่างภาพมือใหม่ไม่ควรพลาด

          เชื่อเลยว่าคนที่เพิ่งเล่นกล้องได้ไม่นาน อาจยังสับสนกับตัวอักษรต่าง ๆ ที่พบบนตัวกล้องและเลนส์กันอยู่ ว่ามันย่อมาจากอะไร หรือมีความหมายอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจการใช้งานได้ถูกต้อง โดยเฉพาะตัวย่อบนเลนส์กล้องยอดนิยมอย่าง Canon และ Nikon ครับ

1. เลนส์ Canon

ตัวย่อบนเลนส์กล้อง

           1.1 เม้าท์เลนส์

           เม้าท์เลนส์ของ Canon มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไล่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959-2012 ซึ่งใช้งานถึงปัจจุบัน ดังนี้

           - ปี ค.ศ. 1959 ใช้เม้าท์เลนส์แบบ R Mount

           - ปี ค.ศ. 1964 เปลี่ยนเป็น FL Mount

           - ปี ค.ศ. 1971 พัฒนาเป็น FD Mount แต่เลนส์ FL สามารถใช้กับกล้องที่เป็น FD ได้อยู่

           - ปี ค.ศ. 1987 ใช้ EF Mount สำหรับกล้องตระกูล EOS ส่วนเม้าท์เลนส์รุ่นก่อนหน้านี้ไม่สามารถใช้กับกล้องที่เป็น EF ได้แล้ว แต่สามารถใช้อะแดปเตอร์ได้

           - ปี ค.ศ. 2003 ทางแบรนด์ได้พัฒนา EF-S Mount ขึ้นมาเพื่อรองรับกล้องของแบรนด์ที่ใช้เซ็นเซอร์แบบ APS-C ซึ่งกล้องประเภทนี้สามารถใช้งานร่วมกับเลนส์ EF ได้ แต่เลนส์แบบ EF-S ใช้กับกล้องฟูลเฟรมไม่ได้

           - ปี ค.ศ. 2012 เม้าท์เลนส์แบบใหม่อย่าง EF-M Mount สร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานร่วมกับกล้องและเลนส์ในระบบมิเรอร์เลสของแบรนด์

           1.2 ระบบออโต้โฟกัส

           - AFD หรือ Arc-Form Drive คือมอเตอร์ออโต้โฟกัสรุ่นแรกที่ใช้ในเลนส์ Canon EF เป็นมอเตอร์ที่ทำงานได้ค่อนข้างช้าและเสียงดัง แถมใช้งานแบบแมนวลไม่ได้ จุดนี้กลายเป็นข้อด้อยของมอเตอร์ AFD สำหรับการถ่ายภาพในที่แสงน้อย

           - MM หรือ Micro Motor เป็นมอเตอร์ AFD ในเวอร์ชั่นที่มีขนาดเล็กลง ยังใช้งานแบบแมนวลไม่ได้เหมือนกัน แต่เสียงรบกวนเบาลงกว่าเดิม

           - STM หรือ Stepper Motor มอเตอร์ที่ทำงานได้ไวกว่าแบบ AFD ซึ่งใช้มอเตอร์แบบพิเศษที่ช่วยให้การโฟกัสไหลลื่นขึ้น ไร้เสียงรบกวนระหว่างการบันทึกวิดีโอ

           - USM หรือ Ultrasonic Motor เป็นมอเตอร์โฟกัสตัวท็อปในปัจจุบันของ Canon ที่อัดแน่นไปด้วยประสิทธิภาพ จับโฟกัสได้เร็ว แถมยังเงียบสุด ๆ

           - Micro USM เป็นเวอร์ชั่นไซส์เล็กของ Ultrasonic Motor ซึ่งพัฒนามาเพื่อรองรับเลนส์รุ่นเล็ก

           1.3 ระบบกันสั่น

           ทาง Canon เรียกระบบกันสั่นของตัวเองว่า IS หรือ Optical Image Stabilization ซึ่งช่วยลดการสั่นไหวของภาพได้ดี

           1.4 สเปค

           - PZ หรือ Power Zoom เป็นเลนส์ที่มาพร้อมกับมอเตอร์สำหรับซูมภาพ มีปุ่มกดซูมเข้า-ออกบนตัวเลนส์ ซึ่งต่างจากเลนส์แบบอื่นที่ต้องหมุนวงแหวนเพื่อซูม

           - Macro คือเลนส์ที่ออกแบบมาเพื่อการถ่ายภาพวัตถุในระยะใกล้ หรือที่เรียกว่าการถ่ายภาพแนวมาโคร

           - Compact Macro สำหรับเลนส์ประเภทนี้ ที่เห็น ๆ กันคือ EF 50mm f/2.5 ที่ใช้ถ่ายภาพพอร์เทรตทั่วไปและใช้ถ่ายมาโคร

           - MP-E เป็นเลนส์มาโครที่มีกำลังขยายสูงมาก ๆ (สูงถึงอัตราส่วน 5:1) ซึ่งเลนส์ประเภทนี้ที่วางขายในปัจจุบันคือ MP-E 65mm f/2.8

           - TS-E คือเลนส์แบบ Tilt-Shift ปรับโฟกัสด้วยระบบแมนวลเท่านั้น ใช้สำหรับถ่ายภาพให้ออกมาดูคล้ายของเล่นขนาดเล็ก

           1.5 ชิ้นเลนส์

           - SSC หรือ Super Spectra Coating เป็นสารเคลือบเลนส์ชนิดพิเศษ ซึ่งช่วยลดแสงสะท้อนที่ไม่ต้องการและช่วยเร่งคอนทราสต์ในภาพ โดยเลนส์ของ Canon ที่วางขายในปัจจุบันจะเคลือบสารข้างต้นมาให้แล้ว แต่ไม่มีระบุคำว่า SSC เหมือนเลนส์รุ่นเก่า

           - DO หรือ Diffractive Optics คือชิ้นเลนส์ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความคลาดเคลื่อนสี รวมทั้งลดขอบม่วงที่เกิดขึ้นในภาพถ่าย ซึ่งเลนส์ DO จะมีขอบเลนส์สีเขียว

           - Softfocus เป็นชิ้นเลนส์ที่ทำให้ภาพถ่ายดูนุ่มนวลในสไตล์เรโทร ทว่าชิ้นเลนส์แบบนี้ถูกยกเลิกการผลิตไปแล้ว เนื่องจากไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

           1.6 ระดับเลนส์

ตัวย่อบนเลนส์กล้อง

           - L หรือ Luxury ก็คือเลนส์ขอบแดงของ Canon ซึ่งเป็นเลนส์ระดับโปรและมีราคาสูงกว่าเลนส์ทั่วไปอย่างชัดเจน

           - ตัวเลขโรมันที่ชื่อเลนส์ (I, II และ III เป็นต้น) หมายถึงกล้องหรือเลนส์รุ่นอัพเกรดของ Canon เช่น EF 24-70mm f/2.8L II USM และ Canon EOS 5D III


2. เลนส์ Nikon

ตัวย่อบนเลนส์กล้อง

           2.1 เม้าท์เลนส์

           เม้าท์เลนส์ของ Nikon นั้น ใช้แบบ F-Mount มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 และได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ใช่เม้าท์เลนส์สำหรับกล้องมิเรอร์เลสแต่อย่างใด

           2.2 ระบบ Auto Indexing

           Nikon เริ่มใช้เลนส์ที่มาพร้อมกับวงแหวนปรับรูรับแสงแบบอัตโนมัติ ซึ่งเรียกว่า Auto Indexing (AI) ในปี ค.ศ. 1977 โดยเป็นเลนส์ที่ช่วยให้ถ่ายภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นต่าง ๆ ดังนี้

           - ปี ค.ศ. 1979 พัฒนาเป็น AI-E
           - ปี ค.ศ. 1982 เปลี่ยนเป็น AI-S
           - ปี ค.ศ. 1988 ใช้แบบ AI-P

           ทว่าในปัจจุบัน ไม่มีตัวหนังสือ AI ระบุบนตัวเลนส์ของ Nikon อีกแล้ว เพราะกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของเลนส์ไปเป็นที่เรียบร้อย

           2.3 ระบบออโต้โฟกัส

           ในปี ค.ศ. 1986 ทาง Nikon เริ่มใช้ระบบออโต้โฟกัสในเลนส์ของตัวเอง

           - AF หรือ Auto Focus คือเลนส์ที่มีกลไกแบบออโต้โฟกัส ซึ่งอาศัยมอเตอร์ของกล้องในการทำงาน

           - AF-D เป็นเลนส์ที่สามารถวัดระยะจากวัตถุถึงตัวกล้อง เพื่อการโฟกัสที่แม่นยำยิ่งขึ้น

           - AF-I เลนส์ประเภทนี้จะมีมอเตอร์โฟกัสในตัว จึงช่วยให้โฟกัสได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

           - AF-S คือเลนส์ออโต้โฟกัสที่มาพร้อมมอเตอร์แบบ Silent Wave Motor ช่วยให้จับภาพได้เงียบและไวกว่าเดิม

           หมายเหตุ : เลนส์ออโต้โฟกัสบางรุ่นของ Nikon จะไม่มีมอเตอร์บิวท์อิน จึงจำเป็นที่ต้องใช้งานร่วมกับกล้องที่มีมอเตอร์ในตัว จึงจะใช้ระบบออโต้โฟกัสได้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะใช้ได้แค่ระบบแมนวลโฟกัส นอกจากนี้ยังมีตัวย่อที่เกี่ยวข้องที่น่าสนใจอีก ดังนี้

           - SWM หรือ Silent Wave Motor คือมอเตอร์ที่ทาง Nikon พัฒนาขึ้นมา ช่วยให้โฟกัสภาพได้เงียบ

           - IF หรือ Internal Focusing ระบบโฟกัสที่ทำงานในตัวเลนส์ ซึ่งหน้าเลนส์จะไม่เคลื่อนที่ตาม

           - RF หรือ Rear Focusing คือระบบโฟกัสที่ทำงานโดยการขยับชิ้นเลนส์ด้านหลัง เพื่อการปรับโฟกัสที่ไวยิ่งขึ้น

           - CRC หรือ Close Range Correction เป็นระบบที่เน้นโฟกัสภาพระยะใกล้ ซึ่งจะช่วยลดความบิดเบือนของภาพได้ดี

           2.4 ประเภทของเลนส์

           - AF และ AF-S เป็นเลนส์ออโต้โฟกัสที่สามารถใช้งานในหมวดแมนวลได้

           - D-Type คือเลนส์ออโต้โฟกัสที่ออกแบบมาเพื่อรองรับระบบวัดแสงแบบ 3D Matrix และระบุค่ารูรับแสงบนตัวเลนส์

           - G-Type เลนส์ของ Nikon ในปัจจุบันที่มีตัว G อยู่ท้ายชื่อรุ่น หมายความว่าเป็นเลนส์ที่ไม่มีวงแหวนปรับรูรับแสงแล้ว โดยต้องปรับที่ตัวกล้องแทน

           - E-Type หมายถึง Electromagnetic Diaphragm ซึ่งเป็นระบบที่กล้องจะควบคุมใบมีดรับแสงแบบดิจิตอล ทำให้เก็บภาพได้เร็วยิ่งขึ้น

           2.5 ฟอร์แมตของเลนส์

           - FX เลนส์ที่สร้างมาเพื่อใช้งานกับกล้องฟูลเฟรมหรือกล้องฟิล์ม 35 แต่จะไม่มีตัวหนังสือ FX ระบุที่ตัวเลนส์ เพราะเม้าท์เลนส์แบบ Nikon F เป็นฟอร์แมต FX อยู่แล้ว

           - DX คือเลนส์ที่ออกแบบมาเพื่อกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์แบบ APS-C ซึ่งเลนส์ฟอร์แมตนี้สามารถใช้กับกล้องฟูลเฟรมได้ แต่ความละเอียดของภาพจะลดลงตามไปด้วย

           - CX เลนส์ฟอร์แมตนี้พัฒนามาเพื่อกล้องมิเรอร์เลสของแบรนด์ โดยจะไม่ระบุ CX ที่ตัวเลนส์ แต่ใช้คำว่า 1 Nikkor แทน

           2.6 ระบบกันสั่น

           ระบบกันสั่นของ Nikon จะเรียกว่า Vibration Reduction หรือที่เราเห็นบนตัวเลนส์ด้วยคำว่า VR นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันอัพเกรดถึงรุ่น VR II

           2.7 สเปค

           - Micro ก็คือเลนส์มาโครนั่นเอง เป็นเลนส์ที่เน้นใช้ถ่ายภาพระยะใกล้

           - PC-E หรือ Perspective Control คือเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพแบบ Tilt-Shift

           - DC หรือ Defocus Control เป็นเลนส์ที่สร้างโบเก้ได้สวยเนียนตา

           2.8 ชิ้นเลนส์

           - ASP / AS คือชิ้นเลนส์แบบ Aspherical มีคุณสมบัติช่วยลดความบิดเบือนของภาพ

           - SIC หรือ Super Integrated Coating คือสารเคลือบชิ้นเลนส์ ที่ช่วยลดการเกิดแสงสะท้อนและภาพซ้อนที่ไม่ต้องการ

           - ML หรือ  Meniscus Protective Lens คือชิ้นเลนส์ด้านหน้าที่ป้องกันแสงแฟลร์และแสงสะท้อนได้

           - ED หรือ Extra-low Dispersion ชิ้นเลนส์ชนิดนี้จะให้ภาพที่คมชัดและช่วยลดปัญหาขอบม่วงได้ดี อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ใช้ในเลนส์ตัวท็อปของ Nikon ด้วย

           - N ย่อมาจาก Nano Crystal Coating เป็นเลนส์ที่ผ่านการเคลือบสารนาโนคริสตัล ช่วยป้องกันแสงสะท้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           - FL หรือ Fluorite Lens คือชิ้นเลนส์ที่ทำจากวัสดุชนิดพิเศษที่เรียกว่า Fluorite ซึ่งมีน้ำหนักเบาและช่วยลดความคลาดเคลื่อนของแสง

           - PF หรือ Phase Fresnel เป็นชิ้นเลนส์แบบใหม่ของ Nikon ที่มีคุณสมบัติป้องกันความคลาดเคลื่อนของแสงได้ดี

           2.9 ระดับเลนส์

ตัวย่อบนเลนส์กล้อง

           หลายคนน่าจะเคยเห็นเลนส์ขอบทองของ Nikon มาแล้ว ซึ่งเป็นเลนส์ระดับสูง ที่ให้ภาพสวยและมีราคาค่อนข้างสูง ส่วนเลนส์ที่ไม่มีขอบทอง เท่ากับว่าเป็นเลนส์ระดับปกติ

           หวังว่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวย่อของเลนส์กล้องของ Canon และ Nikon ที่เราหยิบมาฝาก จะเป็นประโยชน์ต่อช่างภาพมือใหม่ พร้อมช่วยให้เข้าใจการทำงานของเลนส์ รวมไปถึงการเลือกซื้อเลนส์ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

ข้อมูลจาก xlightphotography.com

ภาพจาก bhphotovideo.com, the-digital-picture.com, anngordonphotography.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตัวย่อบนเลนส์กล้อง Canon กับ Nikon มีความหมายอย่างไร ? อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2560 เวลา 14:55:45 19,380 อ่าน
TOP